รวมที่สุดของตำนานเกจิดัง "หลวงพ่อคูณ" พระผู้ให้แห่งที่ราบสูงอีสาน

ส่งหลวงพ่อคูณขึ้นฟ้า ไลฟ์สไตล์ไทยรัฐ จึงขอรวบรวมประวัติ ไลฟ์สไตล์การให้ และเรื่องราวที่น่าสนใจ และถือเป็นที่สุดของ "หลวงพ่อคูณ" เทพเจ้าแห่งด่านขุนทด มาฝากทุกคน เพื่อรำลึกถึงความดีและการเป็นผู้ให้ของเกจิดังท่านนี้


เกิดที่บ้านไร่

"พระเทพวิทยาคม" นามเดิม "คูณ ฉัตร์พลกรัง" หรือที่รู้จักในนาม "หลวงพ่อคูณ" ท่านเกิดวันที่ 4 ตุลาคม พ.ศ. 2466 ตรงกับแรม 10 ค่ำ เดือน 10 ปีกุน ที่บ้านไร่ หมู่ที่ 6 ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุดทด จังหวัดนครราชสีมา ท่านเป็นบุตรชายคนโตของบุญ (บิดา) และทองขาว (มารดา) ซึ่งประกอบอาชีพเกษตรกร โดยมีพี่น้องร่วมบิดามารดา 3 คน

เรียนคาถาอาคมตั้งแต่ 6 ขวบ

สมัยที่ยังเล็ก เด็กชายคูณอายุประมาณ 6-7 ขวบ ก็ได้เข้าเรียนหนังสือกับพระอาจารย์เชื่อม วิรโธ, พระอาจารย์ฉาย และพระอาจารย์หลี ทั้งภาษาไทย และภาษาขอม นอกจากนี้พระอาจารย์ทั้ง 3 ท่าน ยังอบรมสั่งสอนคาถาอาคม เพื่อป้องกันอันตรายต่างๆ ให้ด้วย เด็กชายคูณจึงมีความรู้ในวิชาไสยศาสตร์มาแต่บัดนั้น

อุปสมบท

หลวงพ่อคูณ อุปสมบท ณ พัทธสีมา วัดถนนหักใหญ่ ตำบลกุดพิมาน อำเภอด่านขุดทด จังหวัดนครราชสีมา เมื่อวันศุกร์ที่ 5 พฤษภาคม พ.ศ. 2487 ปีวอก อุปัชฌาย์ให้ฉายาว่า ปริสุทฺโธ

ลูกศิษย์หลวงพ่อแดง

หลวงพ่อคูณ ได้ฝากตัวเป็นศิษย์หลวงพ่อแดง วัดบ้านหนองโพธิ์ ตำบลสำนักตะคร้อ อำเภอด่านขุนทด หลวงพ่อแดง เป็นพระนักปฏิบัติทางด้านคันถธุระ และวิปัสสนาธุระอย่างเคร่งครัด ทั้งเป็นพระเกจิอาจารย์ ที่เรืองวิทยาคมเป็นอย่างยิ่ง จนเป็นที่เลื่อมใสศรัทธาของผู้คน และลูกศิษย์เป็นอย่างมาก

ลูกศิษย์หลวงพ่อคง

หลวงพ่อคูณอยู่ปรนนิบัติรับใช้ หลวงพ่อแดงมานานพอสมควร หลวงพ่อแดงจึงพาหลวงพ่อคูณไปฝากตัวเป็น ลูกศิษย์หลวงพ่อคง พุทธสโร ซึ่งหลวงพ่อทั้ง 2 รูปนี้เป็นเพื่อนกัน ต่างให้ความเคารพซึ่งกันและกัน เมื่อมีโอกาสได้พบปะ มักแลกเปลี่ยนธรรมะ ตลอดจนวิชาอาคมแก่กันเสมอ

เริ่มธุดงค์ที่โคราช

เวลาล่วงเลยมานานพอสมควร กระทั่งหลวงพ่อคงเห็นว่า ลูกศิษย์ของตนมีความรอบรู้ ชำนาญการปฏิบัติธรรมดีแล้ว จึงแนะนำให้ออกธุดงค์จาริก ไปตามป่าเขาลำเนาไพร ฝึกปฏิบัติธรรมเบื้องสูงต่อไป ระยะแรกหลวงพ่อคูณธุดงค์จาริก อยู่ในเขตจังหวัดนครราชสีมา

เดินเท้าถึงลาว-เขมร

จากนั้นหลวงพ่อคูณได้จาริกไกลออกไป กระทั่งถึงประเทศลาวและประเทศกัมพูชา มุ่งเข้าสู่ป่าลึก เพื่อทำความเพียรให้เกิดสติปัญญา เพื่อการหลุดพ้นจากกิเลสตัณหา และอุปาทานทั้งปวง จึงเดินทางกลับไทย

เริ่มสร้างวัด

เมื่อกลับไทยก็กลับสู่ถิ่นฐานบ้านเกิดที่บ้านไร่ จากนั้นจึงเริ่มดำริให้ก่อสร้างวัด ให้เป็นถาวรวัตถุทางพระพุทธศาสนา โดยเริ่มสร้างพระอุโบสถเมื่อ พ.ศ. 2496 นอกจากนั้น หลวงพ่อคูณยังดำริให้สร้างกุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ ขุดสระน้ำไว้เพื่ออุปโภคและบริโภค ทั้งจัดสร้างโรงเรียนวัดบ้านไร่ เพื่อการศึกษาของเยาวชนละแวกนี้อีกด้วย

รวมสมณศักดิ์

12 สิงหาคม พ.ศ. 2535 : เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระญาณวิทยาคมเถร
10 มิถุนายน พ.ศ. 2539 : เป็นพระราชาคณะชั้นราช ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระราชวิทยาคม อุดมกิจจานุกิจจาทร มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี
12 สิงหาคม พ.ศ. 2547 : เป็นพระราชาคณะชั้นเทพ ฝ่ายวิปัสสนาธุระที่ พระเทพวิทยาคม อุดมธรรมสุนทร ปสาทกรวรกิจ มหาคณิสสร บวรสังฆาราม คามวาสี

วันสิ้นเกจิดัง

เมื่อเวลาประมาณ 05:45 น. ของวันศุกร์ที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2558 หลวงพ่อคูณมีอาการหมดสติไม่รู้สึกตัว คณะแพทย์ตรวจประเมินว่า หลวงพ่อคูณหยุดหายใจ และหัวใจหยุดเต้น จึงปฏิบัติการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง อยู่เป็นเวลา 1 ชั่วโมง กระทั่งอาการทรงตัว จึงใส่เครื่องช่วยหายใจ พร้อมทั้งเครื่องกระตุ้นหัวใจ แต่กระนั้นสัญญาณชีพของหลวงพ่อก็ยังไม่คงที่ คณะแพทย์รักษาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็มีเลือดออกในทางเดินอาหารจำนวนมาก ร่วมกับมีภาวะไตหยุดทำงาน ที่เกิดจากปอดและหัวใจ หยุดทำงานเป็นเวลานาน จนวันเสาร์ที่ที่ 16 พฤษภาคม เวลา 10:00 น. คณะแพทย์ผู้รักษารายงานว่า มีภาวะแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น เนื่องจากการแข็งตัวของเลือดผิดปกติ เป็นผลให้มีเลือดออกในช่องทรวงอก จึงทำให้ระบบหายใจล้มเหลวและเกิดภาวะหัวใจหยุดเต้น คณะแพทย์จึงทำการช่วยฟื้นคืนชีพขั้นสูง สำหรับภาวะไตหยุดทำงาน คณะแพทย์ใช้เครื่องไตเทียมทำการฟอกเลือด

พินัยกรรมหลวงพ่อคูณ

หลวงพ่อคูณได้ทำพินัยกรรมไว้ เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2543 มีใจความสำคัญระบุให้มอบสังขาร แก่มหาวิทยาลัยในเวลา 24 ชั่วโมง นับแต่มรณภาพ แล้วให้ทางมหาวิทยาลัยมอบให้แก่ ภาควิชากายวิภาคศาตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เพื่อให้นำไปศึกษาค้นคว้า ตามวัตถุประสงค์ของภาควิชา

ทำพิธีเรียบง่าย

สำหรับพิธีกรรมทางศาสนา และการสวดพระอภิธรรม ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบพิธีขึ้นที่คณะเป็นเวลา 7 วัน ส่วนการประกอบพิธีบำเพ็ญกุศล เมื่อสิ้นสุดการศึกษาค้นคว้า ของภาควิชากายวิภาคศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยขอนแก่นแล้ว ให้จัดอย่างเรียบง่าย ละเว้นการพิธีสมโภชใดๆ ทั้งห้ามขอพระราชทานเพลิงศพ โกศ และพระราชพิธีอื่นๆ เป็นกรณีพิเศษหรือเป็นการเฉพาะ

ลอยอังคารแม่น้ำโขง

โดยให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ประกอบพิธีเช่นเดียวกับที่จัดให้แก่ อาจารย์ใหญ่ของนักศึกษาแพทย์ประจำปี ร่วมกับอาจารย์ใหญ่ท่านอื่น แล้วเผาที่ฌาปนสถานวัดหนองแวง (หรือวัดแห่งอื่น) และเมื่อดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว ขอให้คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น นำอัฐิ เถ้าถ่าน และเศษอังคารทั้งหมด ไปลอยที่แม่น้ำโขง จังหวัดหนองคาย

การ "บริจาค" สุดมหาศาล

"ร่างกาย" ท่านก็ยังบริจาค แล้วยังมีอะไรอีก ที่ท่านไม่ให้ โดยเฉพาะกับ "ปัจจัย" ที่มีผู้ศรัทธาทำบุญให้ ท่านก็บริจาคต่อไป ช่วยเหลือตรงจุดอื่นต่อ ในทุกๆ หน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็นการก่อสร้าง โรงเรียน โรงพยาบาล วัด ที่ว่าการอำเภอ สถานีตำรวจ งานศพ งานบุญ สร้างสะพาน ศาลาการเปรียญ โบสถ์ สายตรวจ อาหารกลางวัน หอประชุมอำเภอ กุฏิสงฆ์ ทอดผ้าป่า ทอดกฐิน ซื้อรถ อุปกรณ์ช่วยชีวิต ฯลฯ สารพัดที่ท่านจะบริจาคปัจจัยได้ ท่านให้หมดจริงๆ
ไม่มีคำบรรยายใดๆ จริงๆ กับพระผู้ให้ท่านนี้ "หลวงพ่อคูณ" นักบุญแห่งที่ราบสูง นักให้แห่งภาคอีสาน.

ไทยรัฐ

แสดงความคิดเห็น

0 ความคิดเห็น